งานนมัสการรอยพระพุทธบาท | พระพุทธบาทดอทคอม

งานนมัสการรอยพระพุทธบาท


ประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาทค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ได้มีการสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ปัจจุบันรอยพระพุทธบาทตั้งอยู่ ณ บริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท ในปีหนึ่งๆ จะมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางไปนมัสการด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ได้กำหนดให้มีการจัดงานนมัสการปีละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 3 รวม 15 วัน ครั้งที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 4 รวม 8 วัน

ประเพณีงานนมัสการพระพุทธบาท งานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท สระบุรี เป็นงานประเพณีการบูชาพระพุทธบาทของชนชาวไทย ปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
มีหลักฐานในพงศาวดารของไทยว่าในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม (๒๑๕๓ - ๒๑๗๑) พระเถระจากอยุธยาไปนมัสการรอยพระพุทธบาทบนภูเขาสุมนกูฏ และได้รับคำแนะนำจากพระเถระในลังกาว่าในเมืองไทย ก็มีรอยพระพุทธบาทอันแท้จริงซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับประทานไว้เช่นกัน สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงมีพระดำรัสให้ทำการสืบหา และในปีพุทธศักราช ๒๑๖๕ ก็มีผู้พบรอยพระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพต ในเขตจังหวัดสระบุรี
ปัจจุบัน ซึ่งก็คือเขาสัจจพันธ์คีรีในสมัยพุทธกาล สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ จึงได้สถาปนาขึ้นเป็น “มหาเจดียสถาน” ทรงอุทิศเนื้อที่โยชน์หนึ่งโดยรอบรอยพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชากัลปนาผลสำหรับบำรุงพระพุทธบาท โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนหนทาง สร้างพระมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทกำหนดเป็น “พุทธเจดีย์” และสร้างอารามวัตถุอื่นๆ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และเสนาสนสงฆ์ เป็นต้น จัดเป็นสังฆาราม พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธบาทโดยขบวนพยุหยาตราชลมารคและสถลมารค อย่างยิ่งใหญ่ ในเดือน ๓ เดือน ๔ ถือเป็นพระราชประเพณีสืบมาตั้งแต่สมัยนั้น
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ก็ได้ทรงเจริญรอยตามพระราชประเพณีกรุงศรีอยุธยา ทรงรับพระพุทธบาทแห่งนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อมีการซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาทแล้วเสร็จคราใด จะเสด็จพระราชดำเนินยกยอดพระจุลมงกุฎมณฑปพระพุทธบาท มีหลักฐานปรากฏถึง ๓ รัชกาล คือ รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จพระราชดำเนินในปีพุทธศักราช ๒๔๐๓ รัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินในปีพุทธศักราช ๒๔๕๖
ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ และเสด็จฯ อีกครั้งในการเปิดพระบรมราชานุสรณ์พระเจ้าทรงธรรมและทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดพระพุทธบาท ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ นับเป็นปีมหามงคลพิเศษสุด ทางกรมศิลปากรได้กำหนดบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธบาท เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นราชสักการะแด่องค์สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ประกอบพระราชพิธียกจุลมงกุฎยอดพระมณฑปพระพุทธบาท และ สมโภชน์พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี วันพุธที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ กล่าวได้ว่าพระพุทธบาทแห่งนี้พระมหากษัตริย์เกือบทุกรัชกาลเสด็จมานมัสการ และมีพระราชศรัทธาเลื่อมใสทำนุบำรุงมหาปูชนียสถานสำคัญนี้ไว้เป็นสมบัติของชาติไทย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาสักการะบูชาตลอดชั่วอายุขัย
การจัดงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อครั้งเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสรมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม กรุงเทพฯ ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการพระพุทธบาทระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๖๕–๒๔๙๙ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สาลี อินทโชตมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม (รูปต่อมา) ผู้ช่วยผู้กำกับการฯ และทำหน้าที่ผู้กำกับการพระพุทธบาทเป็นลำดับมา ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๙–๒๕๑๑ พระคุณท่านทั้งสองได้วางแนวทางการจัดงานเทศกาลนมัสการพระพุทธบาทไว้เป็นรากฐาน ครั้นถึงสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระธรรมรัตนากร (มณี สุพโจ)ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๙๗–๒๕๓๓ และท่านเจ้าคุณ พระราชรัตนกวี (เสวก ธฺมมวโร ป.ธ. ๗) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ระหว่างปี ๒๕๓๔ - ๒๕๓๖ ได้ดำเนินการสานต่อตามแบบแผนประเพณีที่เคยปฏิบัติ

Related Articels

0 ความคิดเห็น

Leave a Reply


ดูแลโดย © กุ้งอินเตอร์ kunginternews | เยี่ยมชมเว็ปไซค์ กุ้งอินเตอร์นิวส์